PageView Facebook
date_range 03/10/2023 visibility 20661 views
bookmark HR Knowledge
สรรพากรแจ้ง! ยกเลิกการยื่น ภ.ง.ด. 1 และ ภ.ง.ด.1ก แบบกระดาษ - blog image preview
Blog >สรรพากรแจ้ง! ยกเลิกการยื่น ภ.ง.ด. 1 และ ภ.ง.ด.1ก แบบกระดาษ

นายจ้างเตรียมตัว สรรพากรประกาศให้ยื่น ภ.ง.ด 1 และ ภ.ง.ด. 1ก ผ่านช่องทางออนไลน์แทนการยื่นแบบกระดาษ เริ่มตั้งแต่ 2567 เป็นต้นไป


อ่านบทความเกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม:


ทำความรู้จักกับ ภ.ง.ด. 1, ภ.ง.ด. 1ก และ ภ.ง.ด. 1ก พิเศษ



ภ.ง.ด.1 และ ภ.ง.ด. 1ก บริษัทจะต้องทำการยื่นให้กับสรรพากร ว่าบริษัทนั้น ๆ หรือกิจการนั้น ๆ มีพนักงานกี่คน แต่ละคนมีรายได้เท่าไหร่ และต้องเสียภาษีเท่าไหร่ ซึ่งบอกได้เลยว่าแบบยื่นของทั้งสองมีรายละเอียด และช่วงเวลาของการนำส่งที่ต่างกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้


ภ.ง.ด.1 คือ?

ภ.ง.ด.1 คือ แบบยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ใช้สำหรับการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่ง ภ.ง.ด.1 จะต้องทำการส่งกรมสรรพากรทุกวันที่ 7 ของเดือนถัดไป นอกจากนี้ ภ.ง.ด.1 จะใช้สำหรับแจ้งพนักงานที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีแล้วเท่านั้น


ภ.ง.ด.1ก คือ?

     ภ.ง.ด.1 ก คือ แบบยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 58(2) แห่งประมวลรัษฎากร ใช้สำหรับแสดงรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร เรียกง่าย ๆ ว่า ภ.ง.ด.1 ก เปรียบเสมือนเป็นใบสรุปการจ่ายเงินเดือน เงินได้อื่น ๆ ของพนักงานเป็นรายปี บริษัทจะต้องทำการส่งกรมสรรพากรปีละ 1 ครั้ง ซึ่งจะต้องนำส่งภายในเดือนกุมภาพันธ์ ของปีถัดไป นอกจากนี้ ภ.ง.ด. 1ก จะต้องแสดงรายละเอียดเงินได้ของพนักงานทุกคนไม่ว่าจะมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีก็ตาม


ภ.ง.ด.1 ก พิเศษ คือ?

ภ.ง.ด.1ก พิเศษ หมายความว่า แบบรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 58(1) สำหรับแสดง การจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1)(2)แห่งประมวลรัษฎากร กรณีมีการตั้งฎีกา เบิกเงิน เฉพาะข้าราชการและลูกจ้างของส่วนราชการ ซึ่งผู้มีหน้าที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.1ก พิเศษ สำหรับแสดงการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) จะต้องทำการภายในเดือนมกราคมของปีถัดไป เว้นแต่แบบยื่นการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) ให้ทำการยื่นแบบภายในเดือนกุมภาพันธ์ ของปีถัดไป


สรรพากรยกเลิกการยื่นแบบกระดาษ สำหรับ ภ.ง.ด. 1, ภ.ง.ด. 1ก และ ภ.ง.ด. 1ก พิเศษ



แถลงข่าวจากกรมสรรพากรเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 โดยนายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “การยื่นแบบยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีเงินได้ตามมาตรา 40(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ที่กรมสรรพากรกำหนดให้นายจ้างที่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ยื่นแบบ และนำส่งภาษี ให้นำส่งสรรพากรเป็นรายเดือนด้วยแบบ ภ.ง.ด.1 และ แบบสรุปรายปีด้วย ภ.ง.ด 1ก หรือ ภ.ง.ด1 ก พิเศษนั้น

 

    ปัจจุบันสัดส่วนของการของนายจ้างที่ยื่นแบบดังกล่าวผ่านทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (ระบบ e-Filing ระบบ e-Withholding Tax และสื่อฝากไฟล์อิเล็กทรอนิกส์) คิดเป็น ร้อยละ 98 ของผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อน Digital Tax Ecosystem ของกรมสรรพากรอย่างเต็มรูปแบบ อำนวยความสะดวกบุคคลธรรมดาที่มีเงินได้ในการตรวจสอบข้อมูลรายได้ผ่านระบบ My Tax Account เพื่อใช้ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90/91 และป้องกันขบวนการทุจริตขอคืนเงินภาษี รวมทั้งการสร้างรายจ่ายเท็จในธุรกิจ

 

    กรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับเงินได้ (ฉบับที่ 438) เรื่อง กำหนดแบบแสดงรายการเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 21 กันยายน 2566 กำหนดให้การยื่นแบบยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภ.ง.ด.1 ภ.ง.ด.1 ก และ ภ.ง.ด.1 ก พิเศษ ต้องดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ระบบ e-Filing ระบบ e-Withholding Tax และสื่อฝากไฟล์อิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น”


ยื่น ภ.ง.ด.1 ออนไลน์มีผลบังคับใช้เมื่อไหร่



การยื่นแบบ ภ.ง.ด.1 ภ.ง.ด.1 ก และ ภ.ง.ด.1 ก พิเศษ รูปแบบออนไลน์ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ตามที่กรมสรรพากรประกาศนั้น เริ่มบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบกับการจ่ายเงินได้เดือนภาษีมกราคม 2567 เป็นต้นไป

   อย่างไรก็ตาม กรณีที่ไม่สามารถยื่นแบบดังกล่าวผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ จะต้องยื่นแบบแสดงรายการในรูปแบบกระดาษพร้อมหนังสือถึงกรมสรรพากร ระบุเหตุผลและความจำเป็นที่ไม่สามารถยื่นแบบผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในท้องที่ที่สถานประกอบการของนายจ้างที่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายตั้งอยู่


สรุปการยื่น ภ.ง.ด.1 ภ.ง.ด.1 ก และ ภ.ง.ด.1 ก พิเศษ

กรมสรรพากรได้ประกาศให้เตรียมความพร้อมสู่ระบบภาษีอากรที่เป็นดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งกำหนดให้นายจ้างยื่นแบบ ภ.ง.ด.1 ภ.ง.ด.1 ก และ ภ.ง.ด.1 ก พิเศษ ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีผลบังคับใช้มกราคม 2567 เป็นต้นไป ช่วยยกระดับบริการที่เกี่ยวข้องกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา


ที่มา : แถลงข่าวกรมสรรพากร

hms-helpful-shadow svg fileโปรแกรมเงินเดือน HumanSoft
ทดลองใช้ฟรี 30 วันครบทุกฟังก์ชัน
  • บริการขึ้นระบบ ฟรี
  • ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
  • ยกเลิกเมื่อไหร่ก็ได้