PageView Facebook
date_range 05/01/2023 visibility 30292 views
bookmark HR Knowledge
สรุปสั้นๆ การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา - blog image preview
Blog >สรุปสั้นๆ การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

หลายคนยังไม่เข้าใจว่าการยื่นภาษี ต้องทำอย่างไรบ้าง ไม่รู้ว่าควรเสียภาษีหรือยัง รายได้เท่าไรต้องเสียภาษี ซึ่งในบทความนี้จะมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการยื่นภาษีกัน

 

ว่าด้วยเรื่องการเสียภาษี 

ประชาชนชาวไทยที่มีเงินได้ทุกคน มีหน้าที่ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ เมื่อเป็นผู้มีรายได้ในระหว่างปีที่ผ่านมา เราเรียกสิ่งนี้ว่า “การเสียภาษี” โดยการยื่นภาษีเงินได้ให้ถูกต้องครบถ้วนและการจะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้นั้น ต้องมีการวางแผนภาษี หรือการเตรียมการเพื่อเสียภาษีด้วย โดยรายละเอียดและวิธิการคำนวณภาษี รวมไปถึงการลดหย่อนภาษีวิธีต่างๆ มีดังนี้


บุคคลธรรมดาต้องยื่นแบบแสดงภาษีเมื่อไร? 

ปกติการยื่นแบบแสดงรายการภาษี มีเกณฑ์ขั้นต่ำของรายได้ที่ต้องยื่นแบบแสดงภาษีในแต่ละปี โดยแบ่งเป็น 2 เกณฑ์ ดังนี้

คนโสด  

  • ที่มีเงินเดือน 10,000 บาท/เดือนขึ้นไป = รายได้ทั้งปี 120,000 บาท 
  • ที่มีเงินได้ประเภทอื่น 5,000 บาท/เดือนขึ้นไป = รายได้ทั้งปี 60,000 บาท 

คนสมรสแล้ว 

  • ที่มีเงินเดือน 18,333 บาท/เดือนขึ้นไป = เงินได้ทั้งปี 220,000 บาท 
  • ที่มีเงินได้ประเภทอื่น 10,000 บาท/เดือนขึ้นไป = เงินได้ทั้งปี 120,000 บาท 


การยื่นแบบแสดงภาษีประจำปีนั้น ยังไม่ใช่ทุกคนที่จะต้องเสียภาษี หากเงินได้สุทธิของคุณ (เงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่างๆ) ยังไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีแล้ว คุณก็ยังไม่ต้องเสียภาษี แต่หากเงินได้สุทธิของคุณถึงเกณฑ์แล้ว ก็ต้องเสียภาษีตามอัตรานั่นเอง


ซึ่งปกติมนุษย์เงินเดือนจะยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีละ 1 ครั้ง โดยสามารถยื่นแบบเอกสารหรือกระดาษ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาทุกแห่ง ภายในวันที่ 31 มี.ค. 2566 หรือจะยื่นแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th ก็ได้เช่นกัน ซึ่งจะขยายไปจนถึงวันที่ 8 เม.ย. 2566


แล้วเงินได้เท่าไหร่ถึงต้องเสียภาษี ? 

เป็นคำถามที่หลายคนยังคงสงสัยมาตลอด เพราะไม่เคยยื่นภาษีเองหรือยังไม่เคยทำความเข้าใจอย่างจริงจังมาก่อน โดยอธิบายอย่างง่ายๆ คือ บุคคลที่มีเงินได้สุทธิ ไม่เกิน 150,000 บาท “ต้องยื่นภาษี แต่ไม่ต้องเสียภาษี” นั่นหมายความว่า บุคคลที่มีเงินได้สุทธิ ตั้งแต่ 150,001 บาทขึ้นไปนั้น “ต้องเสียภาษี”  ตามอัตราภาษีแบบขั้นบันได  โดยมีวิธีคำนวณดังนี้ 


วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 

ขั้นตอนที่ 1 คำนวณเงินได้สุทธิ

คำนวณหาเงินได้สุทธิก่อน โดยสามารถหาได้จากการนำเงินได้ หักด้วยค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน ตามสูตรดังนี้ 

เงินได้สุทธิ = เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน 


ตัวอย่างเช่น 

นายเอ ได้เงินเดือน เดือนละ 40,000 บาท รวมเงินได้ทั้งปีเป็น 480,000 บาท หักค่าใช้จ่ายส่วนตัว 100,000 บาท หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท หักค่าลดหย่อนประกันสังคม 6,300 บาท 


เงินได้สุทธิ 480,000-100,000-60,000-6,300 = 313,700 บาท 

ดังนั้น เงินได้สุทธิของนายเอ เป็นเงิน 313,700 บาท 


   ซึ่งการหักค่าใช้จ่ายส่วนตัวนั้น หักได้ 50% ของรายได้และได้มากสุด 100,000 บาทเท่านั้น ส่วนค่าลดหย่อนนั้นมีอยู่หลายอย่างที่สามารถนำมาลดหย่อนได้ และค่าลดหย่อนหลักๆ ที่สามารถนำมาลดหย่อนได้ทุกคน คือค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท และค่าประกันสังคมสูงสุด 9,000 บาท แต่ในปีภาษี 2565 รัฐบาลมีการลดอัตราเงินสมทบประกันสังคม มาตรา 33 ลง 2 ครั้ง ในรอบเดือน พ.ค. - ก.ค. และต.ค. - ธ.ค. เหลือเพียง 6,300 บาท


ขั้นตอนที่ 2 การเทียบอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

เมื่อทราบเงินได้สุทธิมาแล้ว ให้นำมาเทียบกับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบขั้นบันได โดยนำเงินได้สุทธิ  คูณกับอัตราภาษีของแต่ละขั้น เพื่อให้ได้ค่าภาษีที่เราต้องจ่าย ตามสูตรดังนี้ 

 

ภาษีที่ต้องจ่าย = (เงินได้สุทธิ - เงินได้สุทธิสูงสุดของขั้นก่อนหน้า) x อัตราภาษี + ภาษีขั้นบันไดก่อนหน้าสูงสุด 

 

ตารางอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา


 

จากตัวอย่างเดิมข้างต้น นายเอ ที่มีเงินได้สุทธิเป็น 313,700 บาท จะต้องจ่ายภาษีในขั้น 10% โดยสามารถคำนวณภาษีตามสูตรได้ดังนี้ 

 

ภาษีที่ต้องจ่าย (313,700 – 300,000) x 10% + 7,500 = 8,870 บาท 

ดังนั้น ภาษีที่นายเอต้องจ่าย เป็นเงิน 8,870 บาท 

 

   ซึ่งนายเอสามารถประหยัดการจ่ายภาษีได้มากกว่านี้ ด้วยการหาตัวช่วยค่าลดหย่อนเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นค่าลดหย่อนจากคู่สมรส บุตร บิดามารดา ประกันชีวิต  ประกันสุขภาพ โครงการจากรัฐ เงินบริจาคหรือกองทุนต่างๆ เป็นต้น ซึ่งต้องมีการวางแผนและเตรียมการมาเป็นอย่างดี 


ต้องจัดเตรียมเอกสารอะไรบ้าง ? 

เมื่อได้จำนวณภาษีที่ต้องจ่ายแล้ว สามารถนำเอกสารเข้ายื่นภาษีออนไลน์ได้เลย หรือที่สำนักงานสรรพากรทุกพื้นที่ โดยเอกสารที่ต้องเตรียมไว้ มีดังนี้ 



  • เอกสารแสดงรายได้ ได้แก่ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) จากนายจ้าง  
  • รายการลดหย่อนภาษีที่รวบรวมไว้ตลอดทั้งปี เช่น ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา บุตร เป็นต้น 
  • เอกสารประกอบการลดหย่อนภาษี เพื่อนำมาใช้กรอกแบบฟอร์มยื่นภาษี เช่น ค่าลดหย่อนเลี้ยงดูบิดามารดา จำนวณเงินที่ซื้อกองทุน หนังสือรับรองการชำระเบี้ยประกันชีวิต เบี้ยประกันสุขภาพ ค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการและสิทธิลดหย่อนจากโครงการรัฐบาล เป็นต้น  

   ภาษีนั้น เป็นเรื่องใกล้ตัวมาก สิ่งที่สำคัญคือเราควรทำความเข้าใจหลักการเบื้องต้นดังที่กล่าว่ามา เพื่อจะรู้ว่าเราถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีหรือยังตั้งแต่ต้นปี แล้วค่อยวางแผนเรื่องการลดหย่อนภาษี เพราะภาษีเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน เราจึงควรหาข้อมูล และพิจารณาให้ดีก่อน ซึ่งในบางกรณี อาจไม่ได้ช่วยประหยัดภาษีมากขึ้นเลย หรืออาจเสียโอกาสในการสร้างรายได้และผลตอบแทนที่มากขึ้นก็เป็นได้ 

hms-helpful-shadow svg fileโปรแกรมเงินเดือน HumanSoft
ทดลองใช้ฟรี 30 วันครบทุกฟังก์ชัน
  • บริการขึ้นระบบ ฟรี
  • ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
  • ยกเลิกเมื่อไหร่ก็ได้