บทบาทของระบบการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ (HRM) กับ Career Path ในโลกการทำงานของมนุษย์เงินเดือนนั้น มีอะไรบ้าง และสำคัญอย่างไร ดูได้จากบทความนี้เลย
Career Path คืออะไร
Career Path คือเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ เปรียบเสมือนถนนการทำงานที่พนักงานคนหนึ่งสั่งสะสมประสบการณ์และผลงานเพื่อไปถึงเป้าหมายต่างๆ ในเส้นทางนั้น พูดง่ายๆ ก็คือ เส้นทางอาชีพที่จะเริ่มต้นในตำแหน่งหนึ่ง ก่อนเลื่อนขั้นไปอีกตำแหน่งหนึ่ง นับเป็นการเติบโตทางอาชีพนั่นเอง ซึ่งแบ่งออกเป็นประเภท ได้ดังนี้
1. การเติบโตแนวตั้ง (Vertical)
เป็นการเติบโตในสายวิชาชีพเดิมหรือลักษณะการทำงานแบบที่ทำอยู่โดยตรง เช่น การเลื่อนจากพนักงาน เป็นผู้จัดการ หรือเป็นผู้อำนวยการ เป็นต้น
2. การเติบโตแนวนอน (Horizontal)
เป็นการเติบโตแบบย้ายแผนก โดยมีสาเหตุหลากหลาย เช่น การพัฒนาชุดทักษะให้กว้างขวางมากขึ้น การขยายความรับผิดชอบ ทำให้มีรายได้และผลตอบแทนมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มประสบการณ์ก่อนจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำระดับสูงต่อไป
3. การเติบโตแบบบันไดสองทาง (Dual career ladders)
เป็นการเลื่อนตำแหน่งโดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในตำแหน่งหัวหน้างานอย่างเดียว อาจจะเป็นระดับซีเนียร์หรือหัวหน้าทีม นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับพนักงานที่ต้องการก้าวหน้าทางอาชีพ แต่ยังไม่สนใจหรือยังไม่เหมาะกับตำแหน่งผู้บริหาร
4. การลดขนาดอาชีพ (Scaled back career)
เป็นการลดบทบาทของพนักงานลงด้วยเหตุผลว่า ตัวงานเดิมไม่ได้เป็นที่สนใจ ทำงานแล้วเหน็ดเหนื่อยเกินไป หรือต้องการพิจารณาตำแหน่งใหม่ในบริษัท โดยการลดบทบาทตัวเองลงนับเป็นข้อดีที่จะทำให้พนักงานสามารถประเมินตัวเองทั้งความรับผิดชอบและความปรารถนาในเส้นทางอาชีพนี้ต่อไป
และแน่นอนว่า การเลือกหรือการวางแผน Career Path นั้น เป็นสิ่งที่พนักงานสามารถทำได้เอง โดยผู้สร้างถนนหรือสิ่งที่คอยกำหนดเส้นทาง Career Path ในองค์กรนั้นคือ ระบบการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ (HRM) นั่นเอง
บทบาทของ HRM กับ Career Path
การทำงานนั้น เปรียบเสมือนถนนเส้นหนึ่งในการเดินทางของชีวิต ซึ่งทุกๆ การเดินทางนั้นย่อมมีการพัฒนาเดินหน้าไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับการพัฒนาทางอาชีพที่จะมี Career Path หรือเส้นทางอาชีพเป็นตัวกำหนดเป้าหมายในโลกการทำงานของทุกคน
Career Path นั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นเส้นทางที่พนักงานต้องวางแผนเอง แต่บทบาทสำคัญในการวางแผนโครงสร้างองค์กร ส่งเสริมความสอดคล้องระหว่างเส้นทางชีวิตและเส้นทางอาชีพนั้นคือ การบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ (HRM) ด้วยการจัดหาทรัพยากรหรือเครื่องมือที่จะช่วยพัฒนาทักษะและความสามารถของพนักงานมาสนับสนุน และองค์กรก็ไม่ใช่ทางเลือกเดียวของพนักงานที่จะเติบโตต่อไป ดังนั้น HRM ไม่ใช่แค่สร้างโอกาสทาง Career Path ให้กับพนักงานเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและโอกาสในการขยายงาน ซึ่งจะแตกต่างไปตามแต่ละบุคคลอีกด้วย
ทำไมทุกองค์กรต้องมี Career Path
การที่ HRM พัฒนาและดำเนินการสร้าง Career Path ในองค์กร ไม่เพียงสร้างแรงจูงใจให้พนักงานอยู่ต่อกับบริษัทเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์อื่นๆ อีกมากมายดังนี้
• ดึงดูดพนักงานที่มีคุณภาพ
เมื่อ HRM สร้างโอกาสในการก้าวหน้าทางอาชีพในองค์กร จะสามารถกระตุ้นให้พนักงานมีแรงขับเคลื่อนในการทำงานมากขึ้น และมีแรงจูงใจให้พนักงานภายนอก สนใจเข้ามาร่วมงานกับองค์กรมากขึ้นอีกด้วย
• เพิ่มการมีส่วนร่วม
การให้โอกาสทางอาชีพของพนักงานในองค์กรโดย HRM นั้น นำไปสู่สภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นบวก มีแรงบันดาลใจ ซึ่งจะส่งต่อไปถึงเพื่อนร่วมทีมได้ เมื่อพนักงานมีแรงผลักดันในทิศทางเดียวกัน ก็ส่งเสริมให้การทำงานตามที่ได้รับมอบหมายมีคุณภาพมากขึ้น
• ลดอัตราการลาออก
หาก HRM ช่วยให้การออกแบบ Career Path ของพนักงานชัดเจนได้ จะทำให้พนักงานทราบถึงเป้าหมายที่ชัดเจน รวมถึงวิธีการไปถึงเป้าหมายนั้นๆ และเมื่อประสบความสำเร็จก็จะได้เลื่อนขั้นต่อไป สิ่งนี้จะวิธีผลักดันให้พนักงานอยู่กับองค์กรในระยะยาวได้
• พัฒนาประสิทธิภาพพนักงาน
การพัฒนาทักษะ ตามที่ HRM สนับสนุนให้เหมาะสมตามคุณสมบัติที่องค์กรต้องการนั้น จะทำให้พนักงานได้รับการเลื่อนขั้นตามเป้าหมาย Career Path ที่แต่ละคนออกแบบไว้ จะส่งผลดีต่อประสิทธิภาพในการทำงานและภาพรวมของบริษัทด้วย
• สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ยึดพนักงานเป็นศูนย์กลาง
การที่ HRM ให้เส้นทางอาชีพแก่พนักงานและสนับสนุนทรัพยากรต่างๆ ให้พวกเขาเติบโตเป็นการบ่งบอกได้ว่า องค์กรให้ความสำคัญกับพนักงานอย่างแท้จริง มุ่งเน้นความเป็นอยู่ที่ดีแก่พนักงาน ซึ่งจะทำให้พนักงานรู้สึกมีคุณค่าและนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานที่ดีต่อไป
สรุปบทบาทของ HRM กับ Career Path
เพราะทุกการเดินทางที่มีความสุข ล้วนมีจุดหมายที่ชัดเจน เส้นทางในการทำงานก็เช่นกัน หากออกแบบเป้าหมายได้ชัดเจน พร้อมกับการสนับสนุนที่ดีจากการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ (HRM) แล้ว การไปถึงเป้าหมาย Career Path อย่างสมบูรณ์แบบนั้นก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป และหาก HRM ขององค์กรสร้างเส้นทางให้พนักงานก้าวต่อไปได้อย่างเหมาะสม ทั้งระยะเวลา ตำแหน่งงานและผลตอบแทน โอกาสที่พนักงานจะลาออกนั้น แทบไม่มีเลยก็ว่าได้ ดังนั้น HRM จึงมีส่วนสำคัญที่จะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานขององค์กรเพิ่มมากยิ่งขึ้น
06/09/2022 6076 views
HR Knowledge