สงสัยกันไหมคะว่า ถ้าให้พนักงานมาทำงานในวันหยุด หรือทำงานล่วงเวลา บริษัทไม่จ่าย OT แต่ให้เป็นวันหยุดชดเชยแทน ตามกฎหมายแรงงานทำได้หรือไม่? บทความนี้มีคำตอบ
บทความเกี่ยวกับกฎหมายแรงงานที่คุณอาจสนใจ:
- สวัสดิการที่ทุกบริษัทต้องมีตามกฎหมายแรงงาน
- พนักงานมาสาย นายจ้างหักเงินได้ไหม? ควรจัดการอย่างไรดี?
- ลาพักร้อน ลาป่วย ลากิจได้กี่วัน ตามกฎหมายแรงงาน
- วิธีคิดโอทีรายวันและรายเดือน ตามกฎกระทรวงแรงงาน
Q: พนักงานมาทำงานล่วงเวลา บริษัทไม่จ่าย OT แต่ให้เป็นวันหยุดสามารถทำได้ไหม?
ประเด็นข้อสงสัยที่ว่า “บริษัทหรือนายจ้างขอให้พนักงานทำงานล่วงเวลา หรือให้พนักงานมาทำงานในวันหยุด โดยที่ไม่จ่าย OT (Over Time) เป็นเงิน แต่เสนอให้เป็นโควตาวันหยุดแทน โดยมีเงื่อนไขว่า หากทำงานล่วงเวลาครบ 8 ชั่วโมง ก็จะได้รับโควตาวันหยุดเพิ่มอีก 1 วัน หรือหากมาทำงานในวันหยุด 1 วัน จะได้รับโควตาวันหยุดเพิ่ม 1 วัน”
จากประเด็นข้อสงสัยดังกล่าวทำให้เกิดคำถามตามมาว่าจริง ๆ แล้ว ตามกฎหมายแรงงาน บริษัทสามารถทำได้หรือไม่? อย่างไร?
A: ค่า OT จะต้องจ่ายเป็นจำนวนเงินเท่านั้น ไม่สามารถแลกเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้
ตามกฎหมายแรงงาน อ้างอิงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 บริษัทหรือนายจ้างจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาหรือค่าทำงานในวันหยุดเป็นจำนวน “เงิน” โดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน 2541 มาตรา 5 ได้ให้คำนิยามของค่าล่วงเวลา (OT) และค่าทำงานในวันหยุด ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
“ค่าล่วงเวลา” หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน
“ค่าทำงานในวันหยุด” หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในวันหยุด
“ค่าล่วงเวลาในวันหยุด” หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด
ดังนั้นเมื่อพนักงานทำงานล่วงเวลาหรือมาทำงานในวันหยุดก็ควรที่จะได้รับ “เงิน” เป็นค่าตอบแทน หากบริษัทไม่จ่ายค่าตอบแทน OT เป็นจำนวนเงิน แต่จ่ายด้วยสิ่งอื่นหรือให้โควตาวันหยุดแทน จะถือว่าเป็นการขัดแย้งกับข้อกฎหมายแรงงาน หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด พนักงานสามารถเรียกร้องค่า OT ย้อนหลังพร้อมดอกเบี้ยได้
Q: ค่าตอบแทน OT ในการทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุดคิดอย่างไร?
A: ค่าตอบแทน OT จะต้องจ่ายตามเกณฑ์ที่กฎหมายแรงงานกำหนด
พนักงานที่ทำงานล่วงเวลา OT หรือทำงานในวันหยุดนายจ้างจะต้องจ่ายค่า OT ตอบแทนให้กับพนักงานตามที่กฎหมายกำหนดโดยมีรายละเอียดดังนี้
ค่าทำงานล่วงเวลาในวันทำงานปกติ นายจ้างจะต้องจ่ายค่า OT ไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงาน
ค่าทำงานในวันหยุดกรณีที่พนักงานมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด (พนักงานรายเดือน) ให้จ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างไม่น้อยกว่า 1 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง และกรณีที่ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด (พนักงานรายวัน) ให้จ่ายค่าตอบแทนไม่น้อยกว่า 2 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามชั่วโมงที่ทำ
ค่าทำงานล่วงเวลาในวันหยุด หรือ OT วันหยุด นายจ้างจะต้องจ่ายค่า OT ไม่น้อยกว่า 3 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ
Tips! อ่านบทความต่อเพิ่มเติมได้ที่ >>> วิธีคิดโอทีรายวันและรายเดือน ตามกฎกระทรวงแรงงาน
สรุปการจ่ายค่าตอบแทน OT ให้กับพนักงาน
เรื่องของการจ่ายค่าตอบแทน OT ให้กับพนักงานนับว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน นายจ้างควรศึกษาข้อมูลของกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้เป็นอย่างดี เพื่อไม่ให้ขัดต่อข้อกฎหมาย และในส่วนของพนักงานหรือลูกจ้างก็ควรที่จะศึกษาข้อกฎหมายคุ้มครองแรงงานด้วยเช่นกัน เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของตนเอง
ที่มา : พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
ติดตาม หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
Blog : www.humansoft.co.th/th/blog
Facebook : www.facebook.com/humansoft.co.th
Line : @humansoft
Tel : +66 88 864 7474