PageView Facebook
date_range 10/09/2024 visibility 242 views
bookmark HR Knowledge
Q&A บริษัทย้ายสถานประกอบการแต่พนักงานไม่ประสงค์ย้ายทำอย่างไร - blog image preview
Blog >Q&A บริษัทย้ายสถานประกอบการแต่พนักงานไม่ประสงค์ย้ายทำอย่างไร

เมื่อบริษัทย้ายสถานประกอบการ แต่พนักงานแจ้งไม่ประสงค์ย้าย นายจ้างควรดำเนินการอย่างไร เพื่อไม่ให้กระทบสิทธิของพนักงานตามกฏหมายคุ้มครองแรงงาน บทความนี้มีคำตอบ


อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม


Q: เมื่อบริษัทมีความจำเป็นต้องย้ายสถานประกอบการ นายจ้างและพนักงานมีหน้าที่อย่างไร



A: นายจ้างมีหน้าที่ต้องติดประกาศแจ้งการย้ายให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน ส่วนพนักงานที่ไม่ประสงค์ย้ายสถานที่ปฏิบัติงานจะต้องแจ้งให้นายจ้างทราบเป็นหนังสือภายใน 30 วัน นับแต่วันที่นายจ้างติดประกาศ


เมื่อบริษัทมีความจำเป็นต้องย้ายสถานประกอบการ นายจ้างและพนักงานมีหน้าที่พึงปฏิบัติดังนี้

นายจ้าง: มีหน้าที่ต้องติดประกาศแจ้งการย้ายให้พนักงานแต่ละคนทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วันก่อนมีการย้ายสถานปฏิบัติงานเกิดขึ้น โดยประกาศนั้นต้องติดไว้ในที่เปิดเผย ณ สถานประกอบกิจการที่พนักงานสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน และต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าพนักงานคนใดจะต้องถูกย้ายไปสถานที่ใดและเมื่อใด

 

หากนายจ้างไม่ติดประกาศให้พนักงานทราบล่วงหน้าหรือติดประกาศแต่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายกำหนด นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้กับพนักงานที่ไม่ประสงค์ย้ายไปทำงาน ณ สถานที่แห่งใหม่ โดยจ่ายเท่ากับจำนวนค่าจ้างของการทำงาน 30 วันสุดท้าย ตามมาตรา 120 วรรคสอง และต้องจ่ายภายใน 7 วัน นับแต่วันที่สัญญาจ้างสิ้นสุด

 

Tips! คลิกเพื่ออ่านเพิ่มเติม >> HR ควรบริหารอย่างไรเมื่อต้องย้ายออฟฟิศ (Office Relocation) <<


พนักงาน: ที่เห็นว่าการย้ายสถานประกอบกิจการดังกล่าวมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของตนและครอบครัว และไม่ประสงค์ย้ายไปทำงาน ณ สถานที่แห่งใหม่ พนักงานต้องแจ้งให้นายจ้างทราบเป็นหนังสือภายใน 30 วัน นับแต่วันที่นายจ้างติดประกาศ และต้องแจ้งถึงเหตุผลว่าการย้ายสถานประกอบกิจการดังกล่าวมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตอันสามารถพิสูจน์ได้


Q: หากพนักงานแจ้งไม่ประสงค์ย้ายสถานปฏิบัติงาน นายจ้างจะต้องทำอย่างไร



A: เมื่อพนักงานได้แจ้งความประสงค์เป็นหนังสือแล้วให้ถือว่าสัญญาจ้างสิ้นสุดลงในวันที่มีการย้ายสถานประกอบกิจการ โดยนายจ้างมีหน้าที่พิจารณาเงื่อนไขการจ่ายค่าชดเชยพิเศษให้กับพนักงาน


เมื่อพนักงานได้แจ้งความประสงค์พร้อมเหตุผลเป็นหนังสือแล้วให้ถือว่าสัญญาจ้างสิ้นสุดลงในวันที่มีการย้ายสถานประกอบกิจการ โดยนายจ้างมีหน้าที่พิจารณาเงื่อนไขการจ่ายค่าชดเชยพิเศษให้กับพนักงานจำนวนไม่น้อยกว่าอัตราค่าชดเชยตามมาตรา 118 ทั้งนี้นายจ้างและลูกจ้างยังคงมี สิทธิหน้าที่ตามเดิมจนกว่าสัญญาจ้างจะสิ้นสุดลง เว้นแต่นายจ้างและลูกจ้างจะตกลงกันเป็นอย่างอื่น

 

กรณีที่นายจ้างไม่เห็นด้วยกับเหตุผลของพนักงาน นายจ้างมีสิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากพนักงาน เพื่อให้คณะกรรมการสวัสดิการแรงงานพิจารณาวินิจฉัยคำร้อง หากผลการพิจารณาปรากฏว่าการย้ายสถานประกอบกิจการของนายจ้างไม่มีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของพนักงานและครอบครัว ถือว่าพนักงานจะไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษใด ๆ จากนายจ้าง

 

สรุป Q&A บริษัทย้ายสถานประกอบการแต่พนักงานไม่ประสงค์ย้าย ทำอย่างไร

เมื่อธุรกิจจำเป็นต้องมีการย้ายสถานประกอบการ แน่นอนว่าย่อมมีผลกระทบทั้งต่อนายจ้างและพนักงาน เนื่องจากพนักงานอาจต้องเดินทางไกลขึ้นหรือประสบกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวัน กรณีที่พนักงานไม่สามารถหรือไม่ประสงค์ย้ายสถานที่ทำงานตาม พนักงานมีหน้าที่แจ้งความประสงค์พร้อมเหตุผลที่พิสูจน์ได้เป็นลายลักษณ์อักษรแก่นายจ้าง ฝ่ายนายจ้างเองก็จำเป็นต้องพิจารณาเงื่อนไขในการเลิกจ้างและจ่ายค่าชดเชยพิเศษให้กับพนักงาน เพื่อรับผิดชอบในผลกระทบดังกล่าวและรักษาสิทธิของพนักงานตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

 

อ้างอิง: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

hms-helpful-shadow svg fileโปรแกรมเงินเดือน HumanSoft
ทดลองใช้ฟรี 30 วันครบทุกฟังก์ชัน
  • บริการขึ้นระบบ ฟรี
  • ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
  • ยกเลิกเมื่อไหร่ก็ได้