PageView Facebook
date_range 19/07/2023 visibility 6522 views
bookmark HR Knowledge
ไขข้อสงสัยใบกำกับภาษีคืออะไร ใครมีหน้าที่ออกใบกำกับภาษี - blog image preview
Blog >ไขข้อสงสัยใบกำกับภาษีคืออะไร ใครมีหน้าที่ออกใบกำกับภาษี

ใบกำกับภาษีเอกสารสำคัญที่ใช้ในการยืนยันการซื้อขายที่เกิดขึ้นระหว่างธุรกิจ บทความนี้เราจะพามารู้จักกับใบกำกับภาษีว่าคืออะไร และใครมีหน้าที่ออกใบกำกับภาษีบ้าง


ใบกำกับภาษีคืออะไร

ใบกำกับภาษี (Tax Invoice) คือ เอกสารสำคัญในการประกอบธุรกิจ ที่ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องทำการออกให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้ใช้บริการทุกครั้งที่มีการซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ เพื่อแสดงมูลค่าและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้าและบริการในแต่ละครั้ง

ใบกำกับภาษีถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน คือ ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ใบกำกับภาษีอย่างย่อ และเอกสารอื่นที่ถือเป็นใบกำกับภาษี ได้แก่ ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ ใบเสร็จรับเงินที่ส่วนราชการออกให้ในการขายทอดตลาด และใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากร กรมศุลกากร หรือกรมสรรพสามิต (เฉพาะส่วนที่เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม)


ข้อมูลสำคัญที่ควรมีในใบกำกับภาษี

ในส่วนของใบกำกับภาษีกรมสรรพากรได้กำหนดข้อมูลสำคัญที่ควรต้องมีในใบกำกับภาษี ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้


ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป

ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ใบกำกับภาษีจะต้องมีข้อมูลสำคัญดังนี้   

  1. คำว่า “ใบกำกับภาษี” ที่เห็นได้ชัดเจน   
  2. หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีและหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)   
  3. ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการ  
  4. วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี  
  5. ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้ใช้บริการ  
  6. ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้า (ห้ามแสดงเป็นรหัส) 
  7. จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าและบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการใช้ชัดเจน
  8. ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด


ใบกำกับภาษีอย่างย่อ

กิจการในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่เป็นการขายสินค้าในลักษณะขายปลีก เช่น ห้างสรรพสินค้า ขายของชำ เป็นต้น และกิจการให้บริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก เช่น กิจการภัตตาคาร กิจการโรงแรม เป็นต้น มีสิทธิในการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ ซึ่งใบกำกับภาษีอย่างย่อ จะต้องมีข้อมูลสำคัญดังนี้  

  1. คำว่า “ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ” ที่เห็นได้ชัดเจน   
  2. หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีและหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)
  3. ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการ   
  4. วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี  
  5. ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้า  
  6. ราคาสินค้าหรือราคาค่าบริการ โดยต้องมีข้อความระบุชัดเจนว่า “รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม” ไว้แล้ว 
  7. ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด



ใบกำกับภาษีอย่างย่อออกโดยเครื่องบันทึกการเก็บเงิน  

  1. คำว่า “ใบกำกับภาษีอย่างย่อ” หรือ “TAX INV (ABB)” หรือ “TAX INVOICE (ABB)”    
  2. ชื่อหรือชื่อย่อ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียน   
  3. วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี   
  4. หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี    
  5. ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือบริการ   
  6. ราคาสินค้าและค่าบริการ โดยระบุข้อความ “รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว” หรือ “VAT INCLUDED” 
  7. เลขรหัสประจำเครื่องบันทึกการเก็บเงิน


ใครคือผู้ที่มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษี

ในส่วนของผู้ที่มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ได้แก่ “ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม” หรือผู้ประกอบการที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ทั้งในรูปแบบบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ตาม หากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องทำการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากรภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท


Q&A โทษที่เกี่ยวข้องกับใบกำกับภาษี

HumanSoft ได้คัดเลือกปัญหาและโทษที่เกี่ยวข้องกับใบกำกับภาษี จะมีอะไรบ้างมาอ่านบทความกันต่อเลย


ผู้ประกอบการจดทะเบียน หากไม่ออกใบกำกับภาษีมีความผิดหรือไม่ ?

ตอบได้เลยว่ามีความผิดอย่างแน่นอน หากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไม่จัดทำใบกำกับภาษีหรือสำเนาใบกำกับภาษี หรือจัดทำแต่ว่าไม่ส่งให้กับผู้ซื้อหรือผู้ใช้บริการ จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับนั่นเอง


ถ้าออกใบกำกับภาษี แต่ข้อมูลสำคัญไม่ครบถ้วนได้ไหม ?

กรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนออกใบกำกับภาษีหรือใบกำกับภาษีอย่างย่อ แต่รายการที่เป็นข้อมูลสำคัญไม่ครบถ้วนจะถือว่าฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติที่ระบุไว้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท


หากไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สามารถออกใบกำกับภาษีได้หรือไม่ ?

ผู้ประกอบการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และไม่มีสิทธิในการออกใบกำกับภาษี หากทำการออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออกถือว่ามีความผิด จะต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ไปจนถึง 200,000 บาท


ผู้ประกอบการเจตนาออกใบกำกับภาษีปลอมมีบทลงโทษอย่างไร ?

ในกรณีที่ผู้ประกอบการมีเจตนานำใบกำกับภาษีปลอม หรือใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปใช้ในการเครดิตภาษี จะต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ไปจนถึง 200,000 บาท


สรุปบทความเกี่ยวกับใบกำกับภาษี

ใบกำกับภาษีเป็นเอกสารสำคัญ ที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จะต้องออกให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือบริการทุกครั้งที่มีการขายสินค้าหรือให้บริการ เพื่อแสดงมูลค่าของสินค้าหรือบริการ และภาษีที่เก็บเพิ่มจากราคาสินค้าหรือบริการที่คิดกับลูกค้า และที่สำคัญการออกใบกำกับภาษีในรูปแบบต่าง ๆ จะต้องมีสิทธิในการออกใบกำกับภาษี และมีข้อมูลของเอกสารให้ครบถ้วน

หากสนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากรหรือสามารถติดตามบทความจาก HumanSoft ได้นะคะ

โปรแกรมเงินเดือน HumanSoft
ทดลองใช้ฟรี 30 วันครบทุกฟังก์ชัน
  • บริการขึ้นระบบ ฟรี
  • ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
  • ยกเลิกเมื่อไหร่ก็ได้