เรื่องที่พนักงานควรต้องรู้ คือ สิทธิการลาป่วย เพื่อรักษาสิทธิของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นพนักงานชั่วคราวหรือพนักงานประจำมีสิทธิ์ได้รับการลาคุ้มครองตามกฎหมาย
สิทธิการลาป่วยของพนักงาน
ในแต่ละองค์กรนั้น อาจมีโควต้าและเงื่อนไขการลาป่วยที่ไม่เหมือนกัน แต่ในทุกองค์กรก็จะต้องอยู่ในเงื่อนไขที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้ด้วย ดังนั้นในบทความนี้จึงรวบรวมสิทธิการลาป่วยที่พนักงานควรรู้มาให้พนักงานได้ศึกษากัน เพื่อให้พนักงานและองค์กรได้ทราบถึงสิทธิต่าง ๆ อย่างชัดเจนและบริหารงานบุคคลได้อย่างราบรื่น ไม่ต้องมีโมเมนท์กระอักกระอ่วนให้ต้องลำบากใจกันทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เพราะหากมีการสื่อสารเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน ก็จะทำให้เกิคความเข้าใจกันดีในองค์กร จะทำให้บรรยากาศการทำงานเป็นไปได้อย่างดี และยังสามารถรักษาพนักงานดี ๆ ไว้ได้ด้วยเช่นกัน โดยสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานที่พนักงานควรรู้ไว้ มีดังนี้
ลาป่วย 20 ข้อ ที่พนักงานควรรู้!
1. ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยเท่าที่ป่วยจริง จะลากี่วันก็ได้ ถ้าป่วยจริง
2. สิทธิในการลาป่วยไม่จำเป็นต้องป่วยหนัก
3. การลาป่วย 1 วัน หรือ 2 วัน ไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์
4. การลาป่วยตั้งแต่ 3 วัน นายจ้างขอให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองแพทย์ได้
5. ใบรับรองแพทย์จะเป็นของคลินิกหรือโรงพยาบาลก็ได้ขอให้แพทย์รับรอง
6. ใบรับรองแพทย์ที่ออกโดยสถานพยาบาลของรัฐ คนรับรองอาจเป็นเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข ซึ่งไม่ใช่แพทย์ก็ได้
7. การออกข้อบังคับ หรือระเบียบว่าการลาป่วยทุกกรณีต้องมีใบรับรองแพทย์ถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย
8. การลาป่วยตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป อาจไม่มีใบรับรองแพทย์ก็ได้ กฎหมายกำหนดให้ลูกจ้างชี้แจงก็ได้ ซึ่งการชี้แจงอาจมี หลักฐานที่เป็นภาพถ่ายแสดงอาการป่วย หรือใบเสร็จค่ายา หรือพยานบุคคล หรือใบรับรองแพทย์แผนไทยหรือแผนจีน หรือซองยา หรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่าป่วย
9. การลาเพื่อไปตรวจร่างกายหรือกรณีรักษาหายแล้วแต่แพทย์ติดตามอาการ เท่ากับว่าขณะลาไม่ได้ป่วย จึงลาป่วยไม่ได้
10. หมอป่วย ออกใบรับรองแพทย์ให้ตัวเองได้
11. การลาป่วยซ้อนวันหยุด ให้นับวันลาป่วยเฉพาะวันทำงาน วันหยุดไม่นับเป็นวันลาป่วย เพราะไม่ลาก็มีสิทธิหยุดอยู่แล้ว
12. นายจ้างออกข้อบังคับห้ามลาป่วยปิดหัวปิดท้ายวันหยุดไม่ได้ เพราะหากป่วยจริงต้องมีสิทธิลา
13. การลาป่วยเท็จ ถือเป็นการละทิ้งหน้าที่ หากเกิน 3 วันนายจ้างอาจเลิกจ้างได้
14. การลาป่วยบ่อย ถือเป็นการหย่อนสมรรถภาพในการทำงาน นายจ้างเลิกจ้างได้ (แต่ได้ค่าชดเชย)
15. การลาป่วยไม่เกิน 30 วันมีสิทธิได้ค่าจ้าง ถ้าเกิน 30 วัน มีสิทธิลาป่วยแต่ไม่ได้ค่าจ้าง
16. การลาป่วยไม่เกิน 30 วันมีสิทธิได้ค่าจ้างในวันหยุดที่อยู่ในช่วง 30 วัน แต่ถ้าลาป่วยเกิน 30 วัน แล้วมีวันหยุดในระหว่างที่ลาเกิน 30 วันนั้น จะไม่ได้ค่าจ้างในวันหยุดถือว่าไม่มีวันหยุดแล้ว (วันหยุดต้องมีในวันทำงานจริง)
17. นายจ้างสามารถตกลงจ่ายค่าจ้างกรณีลาเกิน 30 วันได้ เป็นสภาพการจ้างที่เป็นคุณแก่ลูกจ้างสามารถทำได้
18. หากนายจ้างสงสัยว่าลูกจ้างลาป่วยเท็จ นายจ้างสามารถสอบสวนหาข้อเท็จจริงได้
19. ในการลาป่วย เมื่อลูกจ้างกลับมาทำงานตามปกติแล้วจะต้องยื่นใบลาเพื่อให้นายจ้างอนุมัติ ส่วนผู้อนุมัตินายจ้างอาจกำหนดตามความเหมาะสม
20. นายจ้างไม่ปฎิบัติเรื่องการลาป่วย ไม่มีโทษอาญา (กฎหมายแรงงานเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ไม่ปฎิบัติแล้วมีโทษอาญา กับกลุ่มที่ไม่ปฎิบัติแต่ไม่มีโทษอาญา)
เมื่อรู้ระเบียบเบื้องต้นของการลาป่วยเช่นนี้แล้ว ก็สามารถนำความรู้เรื่องข้อกฎหมายแรงงานมาใช้อ้างอิงได้อย่างชัดเจน เมื่อสื่อสารกันอย่างชัดเจน จะทำให้เกิดความเข้าใจกันในองค์กร พร้อมกับองค์กรก็ต้องเคาระสิทธิของพนักงานที่ควรจะได้รับแล้ว จะทำให้องค์กรทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี ไม่มีเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ มาทำให้กังวลใจ ไม่ทำให้งานสะดุดหรือแม้แต่เสียพนักงานดี ๆ ไป สุดท้ายก็ช่วยให้องค์กรเติบต่อไปได้อย่างราบรื่นและยั่งยืนนั่นเอง
28/12/2022 36237 views
HR Knowledge