ไขข้อสงสัย ลูกจ้างขาดงานกี่วันถึงเสี่ยงโดนไล่ออก? รู้ให้ชัดก่อนพลาดสิทธิ์ หากลูกจ้างขาดงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร นายจ้างมีสิทธิ์เลิกจ้างทันที!
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
- Q&Aนายจ้างสั่งพักงานลูกจ้างในกรณีใดได้บ้าง?
- หลักเกณฑ์การพักงาน ตามกฎหมายแรงงานที่นายจ้างต้องรู้!!
- Q&A เลิกจ้างพนักงาน ต้องจ่ายเงินชดเชยเท่าไร? ตามกฎหมายแรงงาน
- Q&A ไขข้อสงสัย นายจ้างออกใบเตือนซ้ำกี่ครั้ง จึงเลิกจ้างได้?
Q: ลูกจ้างขาดงานกี่วัน นายจ้างถึงจะสามารถไล่ออกได้?
“การขาดงาน” หรือที่หลายคนเรียกว่า การละทิ้งหน้าที่ คือการที่ลูกจ้างไม่มาปฏิบัติงานตามวันและเวลาที่กำหนด โดยไม่แจ้งล่วงหน้า และไม่มีเหตุผลที่ชอบด้วยกฎหมายหรือข้อบังคับของนายจ้าง
หลายคนอาจคิดว่าแค่หยุดงานไม่กี่วันไม่น่าจะมีปัญหา...แต่รู้หรือไม่ว่า? หากขาดงานต่อเนื่องโดยไม่มีเหตุผลที่สมควร อาจนำไปสู่ การถูกเลิกจ้าง ได้เลยทีเดียว! วันนี้เราจะพาคุณไปดูให้ชัด ๆ ว่า ลูกจ้างขาดงานกี่วัน นายจ้างจึงจะสามารถไล่ออกได้?
A: ลูกจ้างขาดงาน 3 วันติดต่อกัน นายจ้างสามารถไล่ออกได้
ลูกจ้างขาดงาน 3 วันติดต่อกัน แม้ว่า 3 วันดังกล่าวจะมีวันหยุดคั่นอยู่ด้วย นายจ้างก็สามารถเลิกจ้างลูกจ้างคนดังกล่าวได้ทันที
Q: หากลูกจ้างถูกไล่ออก ลูกจ้างจะได้รับเงินค่าชดเชยไหม?
ในกรณีที่ลูกจ้างขาดงานติดต่อกัน 3 วัน จนนำไปสู่การถูกไล่ออก นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่? ไปหาคำตอบกันเลยค่ะ
A: ในกรณีที่ลูกจ้างขาดงานติดต่อกัน 3 วัน และถูกไล่ออก นายจ้างมีสิทธิ์เลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย
ตามกฎหมายแรงงาน กรณีที่ลูกจ้างขาดงานติดต่อกัน 3 วัน โดยไม่มีเหตุอันสมควร นายจ้างมีสิทธิ์เลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (4)
คำว่า “เหตุอันสมควร” หมายถึง เหตุผลที่มีความชอบธรรมและจำเป็นเพียงพอ ที่ทำให้ลูกจ้างไม่สามารถมาปฏิบัติงานได้ตามวันที่และเวลาที่กำหนด เช่น การเจ็บป่วย อุบัติเหตุ หรือเหตุฉุกเฉินอื่น ๆ ที่อยู่เหนือการควบคุม
ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดหรือละเมิดระเบียบโดยไม่ตั้งใจ ลูกจ้างควรแจ้งให้นายจ้างทราบถึงเหตุจำเป็นนั้นโดยเร็วที่สุด พร้อมแนบเอกสารหรือหลักฐานประกอบ (หากมี) เพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์บานปลายจนเกิดการถูกเลิกจ้างได้
สรุป Q&A ลูกจ้างขาดงานกี่วัน นายจ้างจึงจะสามารถไล่ออกได้?
หากลูกจ้างขาดงานติดต่อกันเป็นเวลา 3 วันทำงาน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรและไม่แจ้งให้นายจ้างทราบ นายจ้างมีสิทธิ์เลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ทั้งนี้ การนับวันขาดงานจะนับเฉพาะ "วันทำงาน" โดยแม้จะมีวันหยุดคั่นอยู่ระหว่างวันขาดงาน ก็ยังถือว่าลูกจ้างขาดงานต่อเนื่องตามเงื่อนไข เช่น ขาดงานวันศุกร์ และไม่มาทำงานอีกในวันจันทร์และอังคาร แม้จะมีวันหยุดเสาร์ - อาทิตย์คั่นกลาง ก็ถือว่าครบ 3 วันทำงานติดต่อกัน และเข้าข่ายการเลิกจ้างโดยชอบด้วยกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม หากลูกจ้างมีเหตุอันสมควร เช่น เจ็บป่วยหรือเหตุฉุกเฉิน ควรรีบแจ้งให้นายจ้างทราบโดยเร็วที่สุด พร้อมแนบหลักฐานประกอบหากจำเป็น เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น และถือเป็นการรักษาสิทธิของตนเองไว้ด้วย