ทำความเข้าใจทำไมต้องส่งเงินสมทบประกันสังคม สิทธิประโยชน์มากมาย เป็นการเฉลี่ยภัยร่วมกันเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตของเราและคนในครอบครัว
ทำไมต้องส่งเงินสมทบประกันสังคม ?
การส่งเงินสมทบประกันสังคมในทุกๆ เดือนเป็นสิ่งที่ลูกจ้างและนายจ้างจะต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อผลประโยชน์ในกรณีเจ็บป่วย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ทุพพลภาพ ว่างงาน ชราภาพ และเสียชีวิต เงินสมทบที่ได้ส่งไป จะใช้เป็นทุนในสวัสดิการเหล่านั้น เพื่อให้เราทุกคนได้รับการดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาล หรือเงินทดแทนจากการขาดรายได้ ซึ่งโดยทั่วไปจะทำการหักจากเงินเดือนของพนักงานในแต่ละเดือน และในบางเดือนอาจมีมาตราการช่วยเหลือทั้งนายจ้างและลูกจ้างด้วยการลดเงินสมทบประกันสังคม โดยจะลดเป็นอัตราที่แตกต่างกันตามสถานการณ์
Tips! อ่านเพิ่มเติมเรื่อง >>> ลดเงินสมทบประกันสังคม
ทำไมลูกจ้างต้องส่งเงินสมทบประกันสังคม
ทำไมลูกจ้างต้องส่งเงินสมทบประกันสังคม? ก็เพื่อให้เข้าถึงสิทธิประกันสังคมต่างๆ ของประกันสังคม มีสิทธิ์ได้รับสิทธิประโยชน์มากมาย ได้แก่ ผลประโยชน์กรณีเจ็บป่วย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ทุพพลภาพ ชราภาพ เสียชีวิต และในกรณีว่างงานทุกกรณีก็จะได้รับเงินทดแทนด้วย ช่วยทำให้คุณมีความมั่นคงทางการเงินหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นทุกกรณี สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการประกันสังคม จึงช่วยปรับปรุงมาตรฐานการใช้ชีวิตของคุณและครอบครัวให้ดียิ่งขึ้นได้ อีกทั้งการส่งเงินสมทบประกันสังคมในทุกๆ เดือน อาจเป็นแรงจูงใจให้คุณเห็นความสำคัญของการออมเงินหรือการทำประกันประเภทอื่นๆ ได้มากยิ่งขึ้น
เงินสมทบประกันสังคม คือ
เงินสมทบประกันสังคม คือ เงินที่นายจ้างและลูกจ้างต้องร่วมกันนำส่งเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน โดยคำนวณจากค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับในอัตราร้อยละ 5 ของฐานค่าจ้าง โดยลูกจ้างที่จะต้องส่งเงินสมทบประกันสังคมจะต้องมีฐานค่าจ้างขั้นต่ำเดือนละ 1,650-15,000 บาท ดังนั้นจะต้องส่งเงินสมทบประกันสังคมขั้นต่ำเดือนละ 83 บาทและสูงสุดไม่เกิน 750 บาทเท่านั้น และเป็นหน้าที่ของนายจ้างในการหักเงินสมทบส่วนนี้ทุกครั้งเมื่อมีการจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในแต่ละเดือน
การส่งเงินสมทบประกันสังคมแต่ละมาตรา
• ผู้ประกันตน มาตรา 33 คือ ลูกจ้างหรือพนักงานประจำที่ทำงานในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป นายจ้างจะต้องส่งเงินสมทบประกันสังคมตามฐานค่าจ้างในอัตราร้อยละ 5 ของฐานค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 750 บาทต่อเดือน
• ผู้ประกันตนโดยสมัครใจ มาตรา 39 คือ ผู้ที่เคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และออกจากงานแล้วไม่เกิน 6 เดือน จะต้องส่งเงินสมทบประกันสังคมเดือนละ 432 บาท ก็จะทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์ต่อเนื่องจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33
• ผู้ประกันตนโดยสมัครใจ มาตรา 40 คือ ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือ 39 สามารถเลือกส่งเงินสมทบประกันสังคมได้ 2 แบบคือ จ่ายเงินสมทบเดือนละ 100 บาท หรือจ่ายเงินสมทบเดือนละ 150 บาท ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ในกรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต และกรณีที่เลือกจ่ายเงินสมทบเดือนละ 150 บาท จะได้รับในส่วนของเงินบำเหน็จชราภาพคืนเป็นเงินออมที่สะสมไว้พร้อมดอกผลตอบแทนรายปีเพิ่มขึ้นมา
วิธีการส่งเงินสมทบประกันสังคม
นำส่งสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ / จังหวัด /สาขา ด้วยตนเองหรือผ่านทางไปรษณีย์ ภายใน 15 วันของเดือนถัดไป ชำระผ่านธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือธนาคารธนชาต สาขาในจังหวัดที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ชำระผ่านระบบ E-payment ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th และสามารถเช็คสิทธิประกันสังคมออนไลน์ได้ด้วยตัวเอง ผ่านทางเว็ปไซต์และแอปพลิเคชัน SSO Connect
Tips! อ่านเพิ่มเติม >> วิธีเช็คสิทธิประกันสังคมออนไลน์
การส่งเงินสมทบประกันสังคมถือเป็นการสร้างหลักประกันให้กับตัวเองและครอบครัว เพราะในแต่ละวันเราทุกคนต่างต้องเผชิญกับความเสี่ยงมากมายแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ และในส่วนของนายจ้างหรือผู้ประกอบการ นอกจากจะเป็นเรื่องของหน้าที่ที่ต้องทำตามกฎหมายแล้ว ยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรและต่อลูกจ้างของคุณเองด้วย การมีโปรแกรมบริหารงานบุคคลที่ทันสมัยและใช้งานง่าย ก็จะเป็นตัวช่วยแบ่งเบาภาระและเพิ่มความแม่นยำให้กับงานส่วนนี้ได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
31/01/2023 104161 views
HR Knowledge