รู้ก่อนได้เปรียบ! ถ้าได้รับเงินชดเชยเลิกจ้าง ต้องยื่นภาษีหรือไม่? ยื่นอย่างไรให้ถูกต้อง? บทความนี้มีคำตอบครบทุกข้อสงสัย มาดูกันเลย!
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
- Q&A ลูกจ้างถูกเลิกจ้างกะทันหัน จะได้รับค่าชดเชยอย่างไร?
- Q&A เลิกจ้างพนักงาน ต้องจ่ายเงินชดเชยเท่าไร? ตามกฎหมายแรงงาน
- Q&A ลูกจ้างลาป่วยเท็จ เลิกจ้างได้ไหม? ได้รับเงินชดเชยหรือไม่
- Q&A พนักงานลงเวลาแทนกัน เลิกจ้างได้หรือไม่ ต้องจ่ายค่าชดเชยไหม
- Q&A ค่าตกใจตามกฎหมายแรงงาน ต้องจ่ายยังไง?
- HRเช็กด่วน เลิกจ้างกรณีใดบ้างที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย
Q: ได้รับเงินชดเชยเลิกจ้างต้องยื่นภาษีหรือไม่?
การเลิกจ้างเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกองค์กร ไม่ว่าจะเกิดจากความผิดของพนักงาน หรือไม่มีความผิดเลยก็ตาม โดยเฉพาะกรณีที่พนักงานที่ไม่ได้ทำผิด นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่าย "เงินชดเชยเลิกจ้าง" ให้ตามกฎหมาย แล้วคำถามสำคัญก็ตามมา…เงินชดเชยนี้ ต้องยื่นภาษีหรือไม่?
A: เงินชดเชยเลิกจ้างที่ไม่เกินค่าจ้างของการทำงาน 400 วันสุดท้าย และไม่เกิน 600,000 บาท จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำไปคำนวณภาษี
เงินชดเชยเลิกจ้างบางส่วนสามารถได้รับการยกเว้นภาษีได้ โดยเฉพาะในกรณีที่พนักงานถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด และได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน หากจำนวนเงินชดเชยที่ได้รับ ไม่เกินค่าจ้างของการทำงาน 400 วันทำงานสุดท้าย และไม่เกิน 600,000 บาท จะถือว่าเป็นเงินที่ได้รับการยกเว้นภาษี หมายความว่า พนักงานไม่ต้องนำเงินชดเชยในส่วนนี้ไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
Q: แล้วกรณีไหนถึงต้องยื่นเสียภาษี?
สงสัยใช่ไหม? ว่าได้รับเงินชดเชยเลิกจ้างเท่าไหร่ถึงจะต้องยื่นเสียภาษีตามกฎหมาย หลายคนอาจเข้าใจว่าเงินชดเชยจากการเลิกจ้างเป็นเงินปลอดภาษีทั้งหมด แต่กฎหมายมีการกำหนด “เพดานการยกเว้นภาษี” เอาไว้ชัดเจน หากได้เงินเกินจากที่กำหนดไว้ ส่วนที่เกินนั้นจะต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มาดูกันว่าได้เงินเท่าไหร่ถึงต้องเสียภาษี? และจะคำนวณอย่างไรให้ถูกต้อง?
A: กรณีได้เงินชดเชยเลิกจ้างเกิน 600,000 บาท หรือเกินค่าจ้างเฉลี่ย 400 วันสุดท้าย ต้องนำส่วนที่เกินไปยื่นภาษี
เงินชดเชยเลิกจ้างจะต้องยื่นเสียภาษีในกรณีที่จำนวนเงินที่ได้รับเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดให้ได้รับการยกเว้นภาษี โดยปกติหากลูกจ้างถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด เงินชดเชยที่ได้รับไม่เกินค่าจ้างเฉลี่ยของช่วง 400 วันทำงานสุดท้าย และไม่เกิน 600,000 บาท จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่หากเงินชดเชยเกินจากเกณฑ์ดังกล่าว ส่วนที่เกินจะต้องนำไปรวมคำนวณภาษีในปีนั้น
ตัวอย่างเช่น หากได้รับเงินชดเชย 800,000 บาท และค่าจ้างเฉลี่ย 400 วันสุดท้ายเท่ากับ 650,000 บาท จะสามารถยกเว้นได้สูงสุด 600,000 บาท ส่วนที่เหลือ 200,000 บาทต้องนำไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นต้น
สรุป Q&A ไขข้อสงสัย ได้รับเงินชดเชยเลิกจ้างต้องยื่นภาษีหรือไม่?
การเลิกจ้างสามารถแบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ กรณีที่พนักงานไม่มีความผิด ซึ่งนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่าย “เงินชดเชยเลิกจ้าง” และกรณีที่พนักงานมีความผิด นายจ้างสามารถเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยได้ โดยในกรณีที่ได้รับเงินชดเชยเลิกจ้าง หากจำนวนเงินไม่เกินค่าจ้างเฉลี่ยของช่วง 400 วันทำงานสุดท้าย และไม่เกิน 600,000 บาท พนักงานไม่จำเป็นต้องนำไปยื่นเสียภาษี แต่หากได้รับเกินจากเกณฑ์ที่กำหนด ส่วนที่เกินจะต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีนั้น
ที่มา : กรมประชาสัมพันธ์