กรณีลูกจ้างมักลาป่วยต่อเนื่องติดกับวันหยุดงานหรือวันหยุดยาว ตามกฎหมายแรงงานนายจ้างสามารถออกกฎข้อบังคับห้ามได้หรือไม่ มาหาคำตอบกัน
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
- พนักงานลาป่วยบ่อย ป่วยการเมือง แนวทางการแก้ปัญหาสำหรับ HR
- Q&A ลูกจ้างลาป่วยเท็จ เลิกจ้างได้ไหม? ได้รับเงินชดเชยหรือไม่
- Q&A พนักงานทดลองงาน สามารถลาป่วยได้ไหม? โดนหักเงินหรือไม่?
- สรุปครบ! กฎหมายแรงงาน สิทธิแรงงานและหน้าที่นายจ้างมีอะไรบ้าง
- HRเช็กด่วน เลิกจ้างกรณีใดบ้างที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย
Q: กรณีลูกจ้างลาป่วยติดวันหยุดบ่อย นายจ้างสามารถออกกฎข้อบังคับห้ามได้หรือไม่ตามกฎหมายแรงงาน
เชื่อว่าหลายบริษัทคงเคยประสบกับพฤติกรรมของลูกจ้างที่ "ป่วยแบบมีแพตเทิร์น" ไม่ว่าจะเป็นการลาป่วยในวันศุกร์หรือวันจันทร์ ลาป่วยก่อนหรือหลังวันหยุดยาว หรือลากลางสัปดาห์ที่มีวันหยุดแทรกอยู่ โดยทำเป็นประจำจนดูเหมือนเป็นการใช้สิทธิลาป่วยเพื่อขยายวันพักผ่อนอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งบางครั้งอาจส่งผลต่อการบริหารงานและความต่อเนื่องของธุรกิจ นายจ้างบางรายจึงพยายามออกกฎระเบียบภายในบริษัท เช่น ห้ามลาป่วยติดวันหยุด หรือหากลาป่วยลักษณะดังกล่าวต้องมีใบรับรองแพทย์มาแสดงทุกครั้ง หลายคนคงสงสัยใช่ไหมว่า การลาป่วยลักษณะนี้ “ทำได้หรือไม่” และ “นายจ้างสามารถออกกฎข้อบังคับมาควบคุมกรณีการลานี้ได้ไหมตามกฎหมายแรงงาน”
A: นายจ้างไม่สามารถออกกฎข้อห้ามกรณีลาป่วยติดวันหยุด แต่หากพบว่าเป็นการลาป่วยโดยทุจริต นายจ้างสามารถลงโทษทางวินัย หรือเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้ตามกฎหมาย
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 32 กำหนดไว้ว่า “ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง” หมายความว่า หากป่วยจริง ไม่ว่าจะลาติดวันหยุด ลาก่อนหรือหลังวันหยุดยาว ก็ถือเป็นสิทธิที่กฎหมายรับรอง นายจ้างไม่สามารถออกกฎห้ามลาป่วยช่วงดังกล่าว หรือบังคับให้แนบใบรับรองแพทย์ทุกครั้งโดยไม่มีเหตุอันควร เพราะถือว่าขัดต่อกฎหมาย และกฎนั้นถือเป็นโมฆะ
แต่หากตรวจพบและมีหลักฐานแน่ชัดว่าลูกจ้างอ้างว่าป่วย แต่แท้จริงกลับไปทำกิจกรรมอื่น เช่น โพสต์ภาพกำลังปาร์ตี้ริมทะเล หรือเดินห้างสรรพสินค้าอย่างสบายใจในวันที่แจ้งลาป่วย แบบนี้ถือเป็นการลาป่วยเท็จ ซึ่งกฎหมายจะไม่ให้ความคุ้มครองแก่การกระทำที่ไม่สุจริต และหากลาป่วยเท็จติดต่อกันครบ 3 วันทำงาน (ไม่จำเป็นต้องติดกันหรือมีวันหยุดคั่น) นายจ้างสามารถลงโทษทางวินัย ออกหนังสือเตือน หรือเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตามมาตรา 119 (5)
สรุป ลูกจ้างลาป่วยติดวันหยุดบ่อย ออกกฎห้ามได้หรือไม่ตามกฎหมายแรงงาน
นายจ้างไม่มีสิทธิออกกฎห้ามลาป่วยติดวันหยุด หากลูกจ้างป่วยจริง เพราะเป็นสิทธิที่กฎหมายรับรองไว้โดยชัดเจน แต่หากพบว่าเป็นการลาป่วยเท็จ เช่น ลาแล้วไปเที่ยวหรือทำกิจกรรมอื่นที่ไม่สอดคล้องกับเหตุผลที่แจ้งลา นายจ้างสามารถลงโทษทางวินัย หรือเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้ตามกฎหมาย