ไม่ว่าจะเป็นนายจ้างหรือลูกจ้าง การรู้สิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายแรงงานเป็นพื้นฐานของการทำงานร่วมกันอย่างราบรื่น บทความนี้สรุปให้ครบ เข้าใจง่าย มีอะไรบ้างมาดูกัน
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
- HR มือใหม่ห้ามพลาด! กฎหมายที่ HR ต้องรู้มีอะไรบ้าง
- ห้ามพลาด! กฎหมายแรงงานที่ลูกจ้างไม่ควรมองข้าม
- กฎหมายแรงงานฉบับล่าสุด 2566 HR ต้องรู้อะไรบ้าง
- HR ควรรู้! ตามกฎหมายแรงงาน ห้ามบังคับลูกจ้างทำโอที
- HR ควรรู้! กฎระเบียบบริษัท ข้อบังคับการทำงาน ตามกฎหมายแรงงาน
- Q&A ตามกฎหมายแรงงานพนักงานควรมีเวลาทํางานและเวลาพักเท่าไร
กฎหมายแรงงาน มีอะไรบ้าง
กฎหมายแรงงาน เป็นกฎหมายที่จัดขึ้นเพื่อคุ้มครองความสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้างและนายจ้างให้เป็นธรรม ทั้งในเรื่องการจ้างงาน การทำงาน และการเลิกจ้าง โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของแรงงาน ควบคู่กับการสนับสนุนให้สถานประกอบการดำเนินกิจการอย่างมีประสิทธิภาพ บทความนี้จะสรุปสาระสำคัญของสิทธิที่ลูกจ้างควรได้รับ และหน้าที่ที่นายจ้างต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันในระบบแรงงานอย่างราบรื่นและยั่งยืน
สิทธิของลูกจ้างตามกฎหมายแรงงาน
ในฐานะลูกจ้าง การรู้เท่าทันสิทธิของตนเองตามกฎหมายแรงงานถือเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม สิทธิแรงงานที่ลูกจ้างควรได้รับตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานมีดังนี้
1. อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
สำหรับกฎหมายแรงงานในเรื่องอัตราค่าแรงขั้นต่ำฉบับล่าสุด จะแบ่งไปตามพื้นที่แต่ละจังหวัด โดยมีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความนี้ >> อัปเดตล่าสุด! ค่าจ้างขั้นต่ำปี 2568 ปรับขึ้นทุกจังหวัด
2. เวลาการทำงานและเวลาพัก
- เวลาทำงาน: งานทั่วไป ไม่เกิน 8 ชั่วโมง/วัน และไม่เกิน 48 ชั่วโมง/สัปดาห์ งานอันตราย ไม่เกิน 7 ชั่วโมง/วัน และไม่เกิน 42 ชั่วโมง/สัปดาห
- เวลาพัก: ช่วงระหว่างการทำงานปกติ วันละ 1 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 2 ชั่วโมง หลังจากทำงานมาแล้วไม่เกิน 5 ชั่วโมง โดยตกลงกันจัดเวลาพักเป็นช่วง ๆ ได้ ช่วงก่อนทำงานล่วงเวลา ถ้าทำงานล่วงเวลาต่อไม่น้อยกว่า 2 ชม. ต้องได้พักก่อนไม่น้อยกว่า 20 นาที
3. วันหยุดงาน
- วันหยุดประจำสัปดาห์: สัปดาห์ละไม่น้อยกว่า 1 วัน โดยมีระยะห่างไม่เกิน 6 วัน โดยลูกจ้างรายเดือนมีสิทธิได้รับค่าจ้าง
- วันหยุดตามประเพณี: ปีละไม่น้อยกว่า 13 วัน โดยได้รับค่าจ้าง
- วันหยุดพักผ่อนประจำปี (วันหยุดพักร้อน): ทำงานครบ 1 ปี มีสิทธิหยุดปีละไม่น้อยกว่า 6 วัน โดยได้รับค่าจ้าง
4. การลางาน
- ลาป่วย: ได้เท่าที่ป่วยจริง ได้รับค่าจ้างปีละไม่เกิน 30 วัน
- ลากิจ: ปีละไม่น้อยกว่า 3 วัน โดยได้รับค่าจ้าง
- ลารับราชการทหาร: ตามที่ทางราชการเรียก โดยได้รับค่าจ้างปีละไม่เกิน 60 วัน
- ลาฝึกอบรม: ได้ตามระเบียบข้อบังคับ
- ลาคลอด: ครรภ์ละ 98 วัน โดยได้รับค่าจ้าง 45 วัน
- ลาทำหมัน: ได้ตามที่แพทย์กำหนด โดยได้รับค่าจ้าง
5. การทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุด
การทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุด ทำได้โดยต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง เว้นแต่งานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน หรืองานฉุกเฉิน โดยชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา การทำงานในวันหยุด และการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 36 ชม./สัปดาห์
Tips! อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างในการทำงานล่วงเวลาและการทำงานในวันหยุดได้ที่นี่ >> ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานวันหยุดหมายถึงอะไร ได้ค่าตอบแทนอย่างไร
หน้าที่ของนายจ้างตามกฎหมายแรงงาน
แม้ว่าลูกจ้างจะมีสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย แต่ในทางกลับกัน นายจ้างก็มีหน้าที่สำคัญที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานเช่นกัน โดยหน้าที่หลักของนายจ้างที่ควรทราบเพื่อป้องกันปัญหาข้อพิพาทและส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในสถานที่ทำงาน มีดังนี้
1. การทำสัญญาจ้าง
สำหรับรูปแบบการจ้างงานทั้งงานประจำและไม่ประจำ ตามกฎหมายแรงงานฉบับล่าสุด ก่อนที่จะเริ่มงานควรมีการจัดทำเอกสารสัญญาจ้างงาน โดยมีการระบุรายละเอียดสำคัญต่าง ๆ เช่น ช่วงระยะเวลาที่เริ่มงานและระยะเวลาที่สิ้นสุดงาน ขอบเขตในการทำงาน ฯลฯ โดยสัญญาจ้างต้องทำเป็นหนังสือจำนวน 2 ฉบับโดยมอบให้ลูกจ้างเก็บไว้หนึ่งฉบับ และนายจ้างนำลูกจ้างไปรายงานตัวต่อพนักงานตรวจแรงงาน ปีละหนึ่งครั้ง นับแต่วันทำสัญญาจ้าง
2. การจ่ายค่าจ้าง
กฎหมายกำหนดให้ลูกจ้างทุกคนต้องได้รับค่าจ้างเป็นเงินเท่านั้น สำหรับลูกจ้างประจำจะได้รับค่าจ้างในวันหยุดต่าง ๆ เช่น วันหยุดตามประเพณี วันหยุดพักร้อน และวันหยุดประจำสัปดาห์ ส่วนลูกจ้างรายวันจะไม่ได้รับค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์ แต่จะได้รับเมื่อมีการลาป่วย ลาทำหมัน ลาคลอด หรือลาไปรับราชการทหาร นอกจากนี้ หากทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุด นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างในอัตราไม่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนด
3. การเลิกจ้างและเงินชดเชย
กฎหมายแรงงานในเรื่องการเลิกจ้าง สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กรณี ดังนี้
- การเลิกจ้างโดยไม่มีการจ่ายค่าชดเชย: กรณีที่ลูกจ้างทำผิดร้ายแรง หรือมีสัญญาจ้างแบบมีกำหนดระยะเวลาและสิ้นสุดตามกำหนด
- การเลิกจ้างโดยมีการจ่ายค่าชดเชย: กรณีที่ลูกจ้างทำงานครบ 120 วันขึ้นไป และไม่ได้กระทำผิด นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยตามอัตราที่กฎหมายกำหนด
4. การใช้แรงงาน
- ลูกจ้างหญิงมีครรภ์: ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างหญิงมีครรภ์ทำงานระหว่างเวลา 22.00 – 06.00 น. ทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุด และห้ามเลิกจ้างลูกจ้างหญิงเพราะเหตุมีครรภ์
- แรงงานเด็ก: ห้ามจ้างเด็กต่ำกว่า 15 ปี กรณีจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี นายจ้างต้องแจ้งการจ้างต่อพนักงานตรวจแรงงานภายใน 15 วัน และห้ามให้ทำงานระหว่างเวลา 22.00 – 06.00 น.
5. การหยุดกิจการชั่วคราว
นายจ้างมีความจำเป็นซึ่งมิได้เกิดจากเหตุสุดวิสัย แจ้งลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานก่อนหยุด ไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ จ่ายเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้าง
6. นายจ้างห้ามเรียกหลักประกันการทำงาน
ห้ามนายจ้างเรียกหลักประกันการทำงาน เว้นแต่ลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สิน เช่น งานสมุหบัญชีงานพนักงานเก็บและหรือจ่ายเงิน เป็นต้น
Tips! อ่านบทความเพิมเติมได้ที่ >> หลักเกณฑ์การเรียกเงินประกันการทำงานจากลูกจ้างตามกฎหมายแรงงาน
สรุป กฎหมายแรงงาน สิทธิแรงงานและหน้าที่นายจ้างมีอะไรบ้าง
กฎหมายแรงงานมีบทบาทสำคัญในการสร้างความสมดุลและความเป็นธรรมระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง โดยลูกจ้างมีสิทธิพื้นฐานที่ได้รับความคุ้มครอง เช่น ค่าจ้างขั้นต่ำ เวลาทำงาน วันหยุด การลา และค่าตอบแทนจากการทำงานล่วงเวลา ขณะที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายในด้านการทำสัญญาจ้าง การจ่ายค่าจ้างอย่างถูกต้อง การเลิกจ้างอย่างเป็นธรรม และห้ามเรียกหลักประกันโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อให้ความสัมพันธ์ในสถานที่ทำงานดำเนินไปอย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพ และยั่งยืนในระยะยาว