PageView Facebook
date_range 19/06/2024 visibility 7681 views
bookmark HR Knowledge
พนักงานลากิจแต่ HR ไม่อนุมัติ ตามกฎหมายแรงงานทำได้หรือไม่ - blog image preview
Blog >พนักงานลากิจแต่ HR ไม่อนุมัติ ตามกฎหมายแรงงานทำได้หรือไม่

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการลากิจตามกฎหมาย พนักงานลากิจแต่ HR ไม่อนุมัติ ตามกฎหมายสามารถทำได้หรือไม่ มาหาคำตอบได้ในบทความนี้กันเลย


อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม:


สิทธิการลากิจตามกฎหมาย

สิทธิการลากิจตามกฎหมายแรงงาน มาตรา 34 ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ไม่น้อยกว่า 3 วันต่อปี โดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างเท่ากับวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกิน 3 วันต่อปี (มาตรา 57/1) นอกจากนี้กรณีที่บริษัทกำหนดสิทธิการลากิจมากกว่า 3 วันต่อปี ก็ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่ไม่ควรน้อยกว่า 3 วันต่อปี


นายจ้างมีหลักพิจารณาลากิจอย่างไรบ้าง?

หลาย ๆ องค์กรได้กำหนดข้อบังคับการทำงานหรือข้อตกลงการจ้างงานในเรื่องของลากิจว่า การลากิจนั้นต้องแจ้งล่วงหน้าให้นายจ้างพิจารณาและอนุมัติจึงถือเป็นการลากิจที่ถูกต้องตามกฎบริษัท แต่ไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าการลากิจด้วยเหตุใดบ้างที่สามารถลากิจได้ ดังนั้นลูกจ้างจึงเข้าใจว่าเป็นกิจธุระส่วนตัวที่ไม่สามารถให้คนอื่นทำแทนได้ หรือกรณีที่มีเหตุที่ต้องลากิจฉุกเฉินแบบเร่งด่วนไม่สามารถรอการพิจารณาหรืออนุมัติได้ ลูกจ้างจึงยื่นแบบฟอร์มใบลางานแล้วไปเลย โดยในกรณีดังกล่าวนายจ้างสามารถพิจารณาได้ดังนี้



  1. พิจารณาว่า พนักงานยื่นลากิจล่วงหน้า เพื่อให้นายจ้างหรือ HR พิจารณาตามกฎระเบียบบริษัทหรือไม่
  2. แจ้งเหตุผลของความจำเป็นที่ต้องหยุดงาน พร้อมเอกสารหลักฐานแนบมาด้วยหรือไม่
  3. แจ้งเหตุผลที่ไม่สามารถรอการอนุมัติได้หรือไม่

 

หากพนักงานปฏิบัติครบถ้วนแล้ว การที่นายจ้างหรือ HR ออกใบเตือนพนักงานและเลิกจ้างพนักงานถือเป็นคำสั่งโดยไม่ชอบ (อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 613/2529) ดังนั้น กรณีที่พนักงานลากิจและมีการปฏิบัติตามทั้ง 3 ข้อพิจารณาที่กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น นายจ้างหรือ HR ไม่สามารถอ้างไม่อนุมัติการลากิจของพนักงานไม่ได้

 

แต่ในทางกลับกันหากพนักงานไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบบริษัท เช่น เพิ่งนึกได้ว่ามีธุระที่ต้องทำจึงมีความจำเป็นต้องขาดงาน จึงไม่ไปบริษัท แม้ว่าพนักงานจะลาไปทำธุระจริง ๆ ก็ตามก็ถือว่าเป็นการหยุดงานที่ไม่มีเหตุผลที่สมควร และไม่ได้ปฏิบัติตามข้อบังคับการทำงานให้ถูกต้อง ถือได้ว่าเป็นการละทิ้งงาน (อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 177/2528)


ตัวอย่างการลากิจธุระอันจำเป็น



แม้ในทางกฎหมายไม่ได้นิยามคำว่า "ลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็น" แต่กระทรวงแรงงานมีคำชี้แจงเกี่ยวกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 โดยอธิบายถึงกรณีลูกจ้างมีกิจธุระอันจำเป็นที่ต้องดำเนินการด้วยตนเอง และลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นของครอบครัว โดยได้ยกตัวอย่างไว้ เช่น

 

ลากิจที่ต้องดำเนินการด้วยตนเอง

  • ลากิจเพื่อทำบัตรประจำตัวประชาชน
  • ลากิจเพื่อทำใบอนุญาตขับขี่
  • ลาเพื่ออุปสมบท (ลาบวช)
  • ลากิจเพื่อไปจดทะเบียนสมรส
  • อื่น ๆ

 

ลากิจธุระจำเป็นของครอบครัว

  • จัดการงานศพของบุคคลในครอบครัว
  • จัดการงานสมรสบุตร
  • จัดงานอุปสมบท
  • อื่น ๆ

 

นอกจากการลากิจที่กล่าวมาข้างต้นยังมีกรณีอื่น ๆ อีกมาก ซึ่งนายจ้างสามารถกำหนดในข้อบังคับการทำงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับการจ้างงานให้ชัดเจนและเป็นธรรม เพื่อป้องกันการฟ้องร้องที่อาจเกิดขึ้นได้


สรุปพนักงานลากิจแต่ HR ไม่อนุมัติ ตามกฎหมายแรงงานมีความผิดหรือไม่

โดยสรุปแล้วพนักงานมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระจำเป็นไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน โดยนายจ้างจะต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่พนักงานในวันที่ลากิจ เท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่พนักงานลา แต่ไม่เกิน 3 วัน/ปี

 

กรณีที่พนักงานลากิจเพื่อไปทำกิจธุระอันจำเป็น และปฏิบัติตามกฎระเบียบบริษัท รวมถึงชี้แจงเหตุผลที่ชัดเจน นายจ้างหรือ HR จะไม่อนุมัติลากิจไม่ได้ แต่หากกรณีที่พนักงานไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบบริษัทให้ถูกต้อง ก็ถือว่าเป็นการละทิ้งต่อหน้าที่

hms-helpful-shadow svg fileโปรแกรมเงินเดือน HumanSoft
ทดลองใช้ฟรี 30 วันครบทุกฟังก์ชัน
  • บริการขึ้นระบบ ฟรี
  • ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
  • ยกเลิกเมื่อไหร่ก็ได้