สรุปสาระความรู้ที่ได้จากงาน Creative Talk Conference 2025 (CTC 2025) ภายใต้ธีม The Future is Worth a Thousand Words โดยทั้ง 2 วันมีอะไรน่าสนใจบ้างไปดูกันเลย
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติม:
- สรุปสาระสำคัญจากงาน THAILAND HR TECH 2025
- สรุปสาระสำคัญจากงาน PEOPLE PERFORMANCE CONFERENCE 2025
- สรุปสาระสำคัญจากงาน HR Tech & Financial Well-being
- สรุปสาระจากงาน NIA: Northern Road Show ครั้งที่ 2/2568
Supalai Presents: Creative Talk Conference 2025
Creative Talk Conference 2025 (CTC 2025) ภายใต้ธีม “The Future is Worth a Thousand Words” จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ณ Bhiraj Hall, BITEC ในวันที่ 4–5 กรกฎาคม 2025 ที่ผ่านมา โดยในปีนี้ Supalai Presents Creative Talk Conference 2025 ได้ยกระดับงานสัมมนาด้านธุรกิจ ครีเอทีฟ เทคโนโลยี การตลาด และการพัฒนาตนเอง ให้ครอบคลุมยิ่งกว่าที่เคย ด้วยการรวมเวทีบรรยายมากถึง 4 เวที พร้อมด้วยเหล่า Speaker กว่า 100 ท่านจากหลากหลายอุตสาหกรรม มาร่วมจุดประกายความคิดให้คนทำงานที่อยาก “คิดให้ไกล ทำให้ได้จริง” เพื่อออกแบบอนาคตในแบบของตนเอง
ในบทความนี้ HumanSoft ได้รวบรวมสาระสำคัญและมุมมองน่าสนใจจากงาน CTC 2025 ที่ เจ้าของกิจการและ HR ไม่ควรพลาด มาฝากกัน
What Makes Us Valuable? ตัวตน คุณค่า และทางรอด
คุณ รวิศ หาญอุตสาหะ CEO จาก Srichand & Mission To The Moon Media ชี้ว่าในยุคที่ AI เข้ามาเปลี่ยนโลก มนุษย์ควรเปลี่ยนความคิดจาก "กวาง" ที่เต็มไปด้วยความกลัว ให้เป็น "สิงโต" ที่มองความเครียดเป็นความท้าทาย คือต้องกล้าเผชิญความเปลี่ยนแปลงอย่างมีพลัง
แม้ AI จะเข้ามามีบทบาทสำคัญและทำให้งานหลายงานอาจหายไปในอนาคตอันใกล้นี้ แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างโอกาสมหาศาล คำถามสำคัญคือ เมื่อเรามีเวลามากขึ้น เราจะใช้เวลานั้นไปทำอะไรให้เกิดคุณค่า?
นอกจากนี้คุณรวิศยังได้พูดถึงคนรุ่งใหม่ โดยเฉพาะ Gen Z ที่ถูกมองว่าไม่อดทนและไม่สู้งาน แต่ความเป็นจริงแล้ว Gen Z ไม่ได้กลัวงานหนัก แต่กังวลเรื่องความเก่งว่าจะเก่งพอหรือไม่ จะพึ่งพาตัวเองได้ไหม และการเปรียบเทียบกับคนอื่น จนทำให้เกิดความไม่มั่นใจ ดังนั้น เราควรมองคนเป็นคน เข้าใจความเชื่อ ความกลัวของพวกเขา และองค์กรควรสร้าง พื้นที่ปลอดภัยทางใจ, มีเป้าหมายที่ชัดเจน และขอบเขตความอดทนที่ยืดหยุ่น ให้คนได้เติบโต
มนุษย์มีคุณค่าที่ AI ไม่มี
มนุษย์ยังคงมีสิ่งที่ AI ไม่มีคือ ความคิดสร้างสรรค์, ความเชื่อ, การวิเคราะห์, เอกลักษณ์เฉพาะตัว และ Emotional Support องค์กรควรช่วยให้พนักงานค้นพบ "คุณค่าเฉพาะตัว (Personal Value Proposition - PVP)" ของตัวเอง เพื่อที่จะไม่กลัว AI หรือความเปลี่ยนแปลงอีกต่อไป
How Young Leader Reshape the Working Culture: ผู้นำรุ่นใหม่นำการเปลี่ยนแปลงสู่การทำงานได้อย่างไร
คุณเฌอปราง อารีย์กุล หรือที่รู้จักกันในชื่อของ เฌอปราง BNK ตลอดชีวิต เฌอปรางผ่านบทบาทผู้นำมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การรวมกลุ่มทำกิจกรรมสมัยเรียน จนถึงการเป็นผู้จัดการวงที่ต้องประสานงานระหว่างเมมเบอร์รุ่นน้องกับทีมผู้บริหาร แต่เธอกลับมองว่าตัวเองเป็นเพียง "คนประสานงาน" เท่านั้น การทำหน้าที่ซ้ำๆ ทำให้เธอเริ่มตั้งคำถามถึงความถนัดด้านการบริหารจัดการ และผลักดันให้ตัดสินใจไปเรียน MBA ในอนาคต
บทเรียนจากความแตกต่าง: ประสานใจสำคัญกว่าสั่งการ
ในฐานะผู้นำรุ่นใหม่ เฌอปรางเรียนรู้ว่าการทำงานไม่ได้มีแค่การวางแผนหรือสั่งการ แต่คือ การประสานคนสองกลุ่ม สองวัย สองบทบาท ให้ทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น
เธอยอมรับว่าช่วงแรกของการเป็นกัปตันวง เธอใช้สไตล์การพูดคุยแบบตรงไปตรงมาเหมือนที่เคยใช้กับเพื่อนผู้ชายสมัยเรียน แต่เมื่อต้องทำงานกับน้องๆ ไอดอลหญิงรุ่นใหม่ที่ไม่คุ้นเคย เธอจึงได้เรียนรู้ว่า วิธีเข้าหาคนคือหัวใจสำคัญ การทำงานที่ดีไม่ใช่แค่ทำให้งานเสร็จ แต่ต้องทำให้ทีมรู้สึกใกล้ชิดและเชื่อใจ บางครั้งเธอต้อง ประนีประนอม ถอยคนละก้าว เพื่อให้ทั้งเป้าหมายของผู้บริหารและความสบายใจของทีมเป็นไปพร้อมกัน
คำแนะนำจากเฌอปราง: ชัดเจนกับตัวเองและมั่นใจในสิ่งที่ทำ
คุณเฌอปรางได้แนะนำว่าที่ผู้บริหารหรือผู้นำยุคใหม่:
- จงตั้งคำถามกับตัวเองให้ชัดเจนว่าต้องการอะไร และมีความเชื่อที่มั่นคงแค่ไหน เพราะหากไม่ชัดเจนในตัวเอง ก็จะไม่ใช่ผู้นำที่มั่นคงได้
- จงมั่นใจเมื่อได้รับมอบหมายหน้าที่ และหาคำตอบให้ชัดเจนว่าอีกฝ่ายต้องการอะไร หากยังไม่รู้ ให้ถามให้เข้าใจ และเมื่อรู้ว่าทำได้ดีที่สุดแล้ว ก็จงทุ่มเทให้เต็มที่ เมื่อเราเป็นเจ้าของผลงาน เราจะอินกับมันและอยากผลักดันให้ดีที่สุด
- เมื่อทำเต็มที่แล้วภายใต้ข้อจำกัดที่มี ก็ต้อง รู้จักปล่อยวางและไว้ใจในผลลัพธ์
นี่คือหัวใจของการทำงานในแบบผู้นำยุคใหม่ของเฌอปราง อารีย์กุล
"Likeable": กุญแจสู่ความสำเร็จในยุค AI
ในยุคที่ AI กำลังก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว คุณธนา เธียรอัจฉริยะ นักธุรกิจมากความสามารถ ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า "การเป็นมนุษย์ที่น่าร่วมงานด้วย (Likeable)" คือทักษะที่สำคัญที่สุดและจะเป็นแต้มต่อสำคัญที่ทำให้ผู้คนอยากทำงานและร่วมมือกับเรา
ที่ผ่านมา เรามักเน้นการพัฒนาคนแบบ Hard Skill หรือทักษะเชิงลึก แต่สิ่งที่คุณธนาเน้นย้ำให้เห็นคือการพัฒนาคุณสมบัติที่สำคัญไม่แพ้กันได้แก่
- Trust: ความไว้เนื้อเชื่อใจ
- Creativity: ความคิดสร้างสรรค์
- Collaboration: การทำงานร่วมกับผู้อื่น
- Human Element: ความเป็นมนุษย์
คำว่า Likable ไม่ใช่แค่ใจดี แต่คือการ เข้าใจผู้อื่น เห็นใจ และทำมากกว่าที่คาดหวัง
ผู้นำที่น่ารักมักมี “ศิลปะของการเสียเปรียบ” คือการให้มากกว่าการรับ เพื่อสร้างความร่วมมือและความไว้วางใจในระยะยาวและต้องรู้จักเป็น Giver (ผู้ให้) เพื่อความสำเร็จนั้น นอกจากนี้ทักษะการฟังและการอยู่กับปัจจุบัน ก็เป็นหัวใจของการเป็นคนที่น่าร่วมงานด้วย เพราะคือกุญแจในการสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและยั่งยืน ซึ่งการมี Empathy (ความเข้าใจ) + Humility (ความถ่อมตน) คือส่วนผสมที่ทำให้ใครๆ ก็อยากร่วมงานด้วย
"You are what you post": สร้างตัวตนในโซเชียล
ในช่วงท้ายของการบรรยาย คุณธนายังได้กล่าวถึงการใช้โซเชียลมีเดียในทางบวก คือการสร้างตัวตนและพลังบวก ไม่ใช่แค่การโชว์ตัว เพื่อย้ำเตือนตัวเองว่าเรากำลังเป็นมนุษย์ที่น่าอยู่ด้วยในโลกที่เต็มไปด้วย AI