HR ต้องติดต่อหน่วยงานราชการหลายแห่ง เพื่อให้การบริหารงานบุคคลดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แล้วมีหน่วยงานไหนบ้างที่ HR ต้องติดต่อ? มาดูกัน!
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
- รู้จักกับ HR Contact ต้องติดต่องานกับใคร เรื่องใดบ้าง
- วิธียื่น ภ.ง.ด.1ก สำหรับ HR
- ขั้นตอนการยื่นเอกสารฝึกอบรมต่อกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สำหรับ HR
- HR คืออะไร ทำหน้าที่อะไรบ้าง พร้อมคุณสมบัติ HR ที่ดี
HR ต้องการติดต่อราชการเรื่องลักษณะนี้ ต้องไปที่หน่วยงานไหน?
การติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะกับหน่วยงานราชการ ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในหน้าที่สำคัญของ HR ที่ต้องดำเนินการ ซึ่งภารกิจลักษณะใด ต้องไปติดต่อกับหน่วยงานราชการไหนนั้น มาดูพร้อมกันที่บทความนี้เลย
ลักษณะงานที่เกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากร
เมื่อ HR มีภารกิจหรืองานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากร เช่น ยื่นรับรองหลักสูตรฝึกอบรมภายในองค์กร, ขอรับสิทธิยกเว้นภาษีจากค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม และส่งรายงานผลการฝึกอบรมประจำปี เป็นต้น HR ต้องไปติดต่อที่หน่วยงานราชการ ดังนี้
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทักษะแรงงานให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน ทั้งยังมีภารกิจหลักในการผลักดันให้องค์กรต่าง ๆ โดยเฉพาะฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพของพนักงานในสถานประกอบการอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเมื่อ HR ต้องการติดต่อประสานงานเกี่ยวกับการจัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากร จึงจำเป็นต้องดำเนินการติดต่อที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
ลักษณะงานที่เกี่ยวกับค่าตอบแทนและสวัสดิการ
เมื่อ HR มีภารกิจที่ต้องไปติดต่อราชการในงานลักษณะที่เกี่ยวข้องกับค่าตอบแทนและสวัสดิการ เช่น ขึ้นทะเบียนนายจ้างและผู้ประกันตน (มาตรา 33) ดำเนินการเกี่ยวกับกองทุนเงินทดแทน และติดต่อสิทธิประโยชน์กรณีต่าง ๆ งานที่เกี่ยวข้องกับภาษี เช่น หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด.1), ยื่นแบบภาษีประจำปีของพนักงาน (ภ.ง.ด.1ก / 1ก.พิเศษ) และการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (แบบ 50 ทวิ) เป็นต้น งานที่เกี่ยวข้องกับการหักเงินเดือนผู้กู้ยืมเพื่อนำส่งชำระหนี้ (กยศ.), งานลงทะเบียนเป็นนายจ้างผ่านระบบ e-Employer ของ กยศ. งานในลักษณะข้างต้น HR จำเป็นต้องไปติดต่อที่หน่วยงานราชการ ดังนี้
สำนักงานประกันสังคม
สำนักงานประกันสังคมที่มีหน้าที่หลักในการบริหารจัดการระบบประกันสังคม เพื่อให้ลูกจ้างได้รับความคุ้มครองตามสิทธิที่กฎหมายกำหนด ทั้งยังมีการบริหาร “กองทุนเงินทดแทน” ซึ่งช่วยดูแลค่ารักษาพยาบาลและค่าชดเชยกรณีลูกจ้างประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ดังนั้น HR จึงต้องมีบทบาทในการจัดทำข้อมูลและยื่นแบบฟอร์มที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ลูกจ้างได้รับสิทธิอย่างครบถ้วน
กรมสรรพากร
กรมสรรพากรเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลเรื่องภาษีอากร โดยเฉพาะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการบริหารงานบุคคลในองค์กร ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) จึงต้องมีความรู้และปฏิบัติงานร่วมกับกรมสรรพากรอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การจัดเก็บภาษีขององค์กรเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้หาก HR มีการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับภาษีต่าง ๆ จึงต้องมาติดต่อที่หน่วยงานนี้นั่นเอง
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นหน่วยงานสำคัญที่ช่วยสนับสนุนโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนและนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยให้กู้ยืมเงินเพื่อใช้ในการศึกษาโดยไม่ต้องชำระเงินคืนในช่วงที่ยังศึกษาอยู่ แต่เมื่อเข้าสู่การทำงาน ผู้กู้ยืมมีหน้าที่เริ่มต้นการชำระหนี้คืนตามกฎหมาย ซึ่งบทบาทของ HR จึงเป็นทั้งการทำหน้าที่ตามกฎหมาย และการช่วยพนักงานในการชำระหนี้อย่างเป็นระบบ
กรมส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) มีหน้าที่หลักในการส่งเสริม สนับสนุน และคุ้มครองสิทธิของคนพิการให้สามารถดำรงชีวิตและมีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างเท่าเทียม ดังนั้น HR มีหน้าที่ประสานงานกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กรณีที่องค์กรมีพนักงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป โดยต้องดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการจ้างงานคนพิการ ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานโดยตรงตามมาตรา 33 การส่งเงินสมทบเข้ากองทุนตามมาตรา 34 หรือการให้สัมปทานหรือสนับสนุนอื่นตามมาตรา 35
ลักษณะงานที่เกี่ยวกับแรงงานสัมพันธ์
ภารกิจที่เกี่ยวข้องกับแรงงานสัมพันธ์ เช่น การจัดทำสัญญาจ้างและข้อบังคับการทำงาน, ขอคำปรึกษาเรื่องกฎหมายแรงงาน และสิทธิพนักงานและแจ้งการเลิกจ้าง / ปรับลดจำนวนพนักงาน เป็นต้น งานในลักษณะดังกล่าว HR จำเป็นต้องไปติดต่อที่หน่วยงานราชการ ดังนี้
กรมสวัสดิการ และคุ้มครองแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมีภารกิจหลักในการส่งเสริมและดูแลสิทธิของแรงงานให้ได้รับความเป็นธรรมในการจ้างงาน ตามกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ต้องศึกษาและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ HR ยังต้องเป็นตัวแทนประสานงานเจรจากรณีเกิดข้อร้องเรียนหรือข้อพิพาทแรงงานระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง เมื่อ HR มีภารกิจในลักษณะดังกล่าวจึงต้องดำเนินการประสานงานไปที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
ลักษณะงานที่เกี่ยวกับการสรรหาว่าจ้าง
เมื่อ HR มีภารกิจที่ต้องไปติดต่อราชการในงานลักษณะที่เกี่ยวข้องกับการสรรหาว่าจ้าง เช่น การแจ้งตำแหน่งงานว่าง, ขอคำปรึกษาด้านการจัดหางานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย, การยื่นขอรับแรงงานต่างด้าวตามความจำเป็นของกิจการ และการส่งรายงานเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว เป็นต้น งานในลักษณะดังกล่าว HR จำเป็นต้องไปติดต่อที่หน่วยงานราชการ ดังนี้
กรมการจัดหางาน
กรมการจัดหางาน เป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงแรงงานที่มีหน้าที่สำคัญในการส่งเสริมการมีงานทำอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงควบคุมดูแลการจ้างแรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ในหลายด้าน ดังนั้นเมื่อ HR ต้องดำเนินการเกี่ยวกับงานในลักษณะนี้จึงต้องประสานงานไปที่กรมการจัดหางาน
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ในบางกรณี เช่น การรับสมัครพนักงานในตำแหน่งรักษาความปลอดภัย หรือเกี่ยวข้องกับการดูแลด้านการเงิน องค์กรอาจจำเป็นต้องตรวจสอบประวัติอาชญากรรมก่อนรับเข้าทำงาน ดังนั้น HR จึงต้องประสานงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอข้อมูลประกอบการพิจารณา
Tips! อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการติดต่อประสานงานของ HR ได้ที่นี่ >> รู้จักกับ HR Contact ต้องติดต่องานกับใคร เรื่องใดบ้าง
สรุป HR ต้องติดต่อราชการกับหน่วยงานใดบ้าง
การติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะหน่วยงานราชการ ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในหน้าที่สำคัญของ HR ที่ต้องดำเนินการ โดยการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ จะขึ้นอยู่กับลักษณะงานที่ HR ต้องการที่จะติดต่อ ดังนี้ ลักษณะงานที่เกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากร ต้องไปติดต่อที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ลักษณะงานที่เกี่ยวกับค่าตอบแทนและสวัสดิการ ติดต่อที่สำนักงานประกันสังคม กรมสรรพากร กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และกรมส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ลักษณะงานที่เกี่ยวกับแรงงานสัมพันธ์ ติดต่อที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และลักษณะงานที่เกี่ยวกับการสรรหาว่าจ้าง ติดต่อที่กรมการจัดหางาน และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ